วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

สถานที่ท่องเที่ยว

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

อำเภอเมือง จ.ราชบุรี

ตั้งอยู่ริมถนนวรเดช ตำบลหน้าเมือง ใกล้กับหอนาฬิการิมแม่น้ำแม่กลอง อาคารพิพิธภัณฑ์เคยใช้เป็นศาลากลางจังหวัดมาก่อน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2465 และได้รับการบูรณะเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2431 จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับราชบุรีในทุกด้าน อาทิ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชาติพันธุ์วิทยา ธรณีวิทยา ศิลปะพื้นบ้าน วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของกลุ่มชนต่างๆ ในจังหวัดราชบุรี เช่น ลาวโซ่ง กะเหรี่ยง และไทยยวน รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โบราณวัตถุที่โดดเด่นนอกจาก พระแสดงดาบราชศัตราประจำมณฑลราชบุรีแล้ว ยังมี พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ศิลปะขอมแบบบายน เป็น 1 ใน 5 องค์ที่ขุดพบในประเทศไทยที่มีสภาพสมบูรณ์งดงามที่สุด พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00–16.00 น. ยกเว้นวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท (เด็กเข้าชมฟรี) ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3232 1513

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนอำเภอโพธาราม จ.ราชบุรี

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ตั้งอยู่ที่วัดขนอน ตำบลสร้อยฟ้า ริมแม่น้ำแม่กลอง อยู่ห่างจากตัวอำเภอโพธารามประมาณ 10 กิโลเมตร ลักษณะเป็นเรือนไทย จัดแสดงนิทรรศการหนังใหญ่ ประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่ และกรรมวิธีการแกะสลักตัวหนังใหญ่ มีตัวหนังจำนวน 313 ตัวที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ แบ่งเป็นชุดหนุมานถวายแหวน ชุดสหัสสกุมาร และเผากรุงลงกา ชุดศึกอินทรชิตครั้งที่ 1 เป็นโครงการตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะหนังใหญ่ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการละเล่นชั้นสูง ตัวหนังมีการแกะสลักลวดลาย ใช้วงมโหรีปี่พาทย์เป็นเครื่องดนตรีประกอบ พร้อมกับลีลาของคนเชิดประกอบบทพาทย์และบทร้อง ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยกันอนุรักษ์ตัวหนังใหญ่ ซึ่งท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้สร้างขื้น ด้วยท่านเป็นผู้มีความรู้ทางด้านช่าง และประกอบกับในขณะนั้นมีตัวหนังอยู่บ้างที่วัด ท่านจึงมีความคิดที่จะสร้างตัวหนังใหญ่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม จึงได้ชักชวนครูอั๋งผู้เคยเป็นโขนคณะเจ้าเมืองราชบุรี ช่างจาดและช่างจ๊ะชาวราชบุรี และช่างพ่วงชาวบ้านโป่ง มาช่วยกันสร้างตัวหนัง ชุดแรกคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวมเก้าชุด นับเป็นสมบัติของวัดที่ได้ร่วมรักษาสืบทอดกันมา ทางวัดจึงได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้น นับเป็นวัดเดียวที่มีมหรสพของวัด ตัวหนังและคณะหนังใหญ่ที่สมบูรณ์ อยู่ในความอุปถัมภ์ของวัด และยังคงมีการจัดการแสดงหนังใหญ่สืบทอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ทางวัดได้จัดแสดงเชิดหนังใหญ่ทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-11.00 น. เพียงรอบเดียว โดยนักเรียนจากโรงเรียนวัดขนอน (สำหรับวันธรรมดาโปรดติดต่อล่วงหน้า โดยจะมีค่าใช้จ่ายรอบละ 2,000 บาท)
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เจ้าอาวาสวัดขนอน โทร. 0 3223 3386, 0 1753 1230 โทรสาร 0 3235 4979
การเดินทาง
รถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษมผ่านนครปฐม สู่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จากนั้นเลี้ยวขวาที่สี่แยกอำเภอบางแพ ไปตามทางหลวงหมายเลข 3090 เข้าสู่อำเภอโพธาราม ข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลอง แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3089 ประมาณ 3 กิโลเมตร วัดขนอนอยู่ทางขวามือ
รถโดยสารประจำทาง รถโดยสารออกจากสถานีขนส่งสายใต้ สายกรุงเทพฯ-โพธาราม มาลงที่ท่ารถโพธาราม แล้วจากท่ารถ นั่งรถสองแถวสายบ้านโป่ง-โพธารามมาลงที่หน้าวัดขนอน หรือใช้รถจักรยานยนต์รับจ้าง ใช้เวลาประมาณ 5 นาที

ค่ายหลวงบ้านไร่
อำเภอโพธาราม จ.ราชบุรี

ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองตาคต เป็นค่ายเสือป่าในอดีต ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธารามประมาณ 7 กิโลเมตร รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จมาฝึกอบรมเสือป่าภาคปฏิบัติ เช่น ฝึกซ้อมรบ ฝึกขุดสนามเพลาะ หัดเพลงอาวุธ ฯลฯ ณ ที่แห่งนี้ถึง 9 ครั้ง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลและทางราชการเห็นว่า สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญจึงได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ผู้ให้กำเนิดกิจการลูกเสือไทย ณ ค่ายหลวงบ้านไร่แห่งนี้ ปัจจุบันค่ายหลวงบ้านไร่แห่งนี้เป็นสถานที่พักผ่อน มีหอนิทรรศการถาวรของ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ณ อยุธยา นอกจากนั้นยังมีแคมป์ลูกเสือ-เนตรนารี เรือนพักไว้สำหรับรับน้อง เปิดบริการตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3223 2828, 0 1880 3672

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง
อำเภอบ้านโป่ง จ.ราชบุรี

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง ตั้งอยู่ภายในวัดม่วง ตำบลบ้านม่วง ริมแม่น้ำแม่กลอง วัดม่วงเป็นวัดเก่าแก่ ตามประวัติบอกไว้ในคัมภีร์ใบลานเขียนด้วยอักษรมอญว่า มีอายุอยู่ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงเวลานั้น ชุมชนบ้านม่วงและบริเวณสองฝั่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง มีกลุ่มชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายมอญ อยู่ร่วมกันกับกลุ่มชนอื่น เช่น ไทย จีน ลาว ญวน เขมรและกะเหรี่ยง มีการผสมผสานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน เกิดเป็นเอกลักษณ์ของคนในท้องถิ่น และความที่ชุมชนบ้านม่วงมีวิถีชีวิตผูกผันอยู่กับประเพณี และความเชื่อดั่งเดิม ทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นขุมทรัพย์ทางความรู้ด้านมอญศึกษา แก่ผู้สนใจมากมาย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งค้นคว้ารวบรวมประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นชาวมอญ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แบ่งการจัดแสดงออกเป็นห้องต่างๆ สามารถเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายโดยเริ่มจาก ห้องโถง มอญในตำนาน มอญในทางประวัติศาสตร์ ภาษามอญและจารึกภาษามอญ ประเพณีวัฒนธรรมมอญ มอญอพยพ มอญในไทยและผู้นำทางวัฒนธรรม มีการจัดแสดงโบราณวัตถุ คัมภีร์ใบลานที่เขียนด้วยอักษรมอญมีอายุกว่า 300 ปี เสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่บ่งบอกถึงมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจ ให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของลุ่มน้ำแม่กลองในอดีต ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมของชุมชนบ้านม่วงกับชุมชน ในเขตอำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม


นอกจากนั้นภายในวัดยังมีศูนย์มอญศึกษา เปิดสอนภาษามอญให้กับบุคคลทั่วไปทุกวันพุธ และวันพฤหัสบดี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วงเปิดให้เข้าชมในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00–16.00 น. โดยไม่เสียเข้าชม (หากสนใจเข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม และ เข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้า หรือทำหนังสือเรียนเจ้าอาวาสวัดม่วง) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3237 2548, 0 6004 0786, 0 9885 8817 หรือที่เว็บไซต์ www.monstudies.org พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง ขอเชิญชวนผู้เข้าชมที่เดินทางมาเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ลองลิ้มชิมรสอาหารคาวหวานพื้นบ้านแบบมอญ เช่น แกงบอน น้ำปลายำ แกงมะตาด ในราคาเป็นกันเอง ติดต่อล่วงหน้าที่คุณสอางค์ พรหมอินทร์ บริเวณวัดยังมีศูนย์ทอผ้าพื้นบ้าน จำหน่ายผ้าทอมือ ผ้าขาวม้าฝีมือชาวบ้าน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08 6111 1367
การเดินทาง
รถยนต์ จากตัวเมืองราชบุรีไปตามทางหลวงหมายเลข 4 แล้วแยกเข้าอำเภอบ้านโป่ง ไปตามทางหลวงหมายเลข 3089 (โคกสูง-เบิกไพร) (ทางไปถ้ำเขาช่องพราน) จากนั้นข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลองตรงไปประมาณ 7 กิโลเมตรและจากปากทางแยกเข้าไปอีก 2.5 กิโลเมตร ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์
รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ นั่งรถสายกรุงเทพฯ-กาญจนบุรีมาลงที่อำเภอบ้านโป่ง แล้วนั่งรถโดยสารประจำทางสายบ้านโป่ง-โพธาราม มาลงที่หน้าวัดม่วง






อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม
อำเภอบางแพ จ.ราชบุรี
อุทยานหุ่นขี้ผิ้งสยาม หรือ Siam Cultural Park ตั้งอยู่บริเวณถนนเพชรเกษม ตำบลวังเย็น อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากสี่แยกบางแพ ไปตามถนนบางแพ-ดำเนินสะดวก ประมาณ 600 เมตร อุทยานอยู่ด้านขวามือ มีเนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2540 เป้าหมายเพื่อเป็นสถานที่พักใจแก่คนทั่วไปในสังคมที่แข่งขันเร่งรัดในปัจจุบัน โดยนำเสนอแง่มุมด้านศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่งดงามในสังคมพุทธของไทย
ภายในบริเวณมีอาคารจัดแสดงรูปปั้นหุ่นขี้ผิ้งไฟเบอร์กลาสบุคคลสำคัญ อาทิ ครูมนตรี ตราโมทย์ สืบ นาคะเสถียร ม.ล.ปิ่น มาลากุล ฯพณฯสัญญา ธรรรมศักดิ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีบุคคลสำคัญชาวต่างชาติอีกหลากหลายท่าน อาทิ แม่ชีเทเรซ่า ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ เติ้ง เสี่ยว ผิง และเหมา เจ๋อ ตุง โดยได้บรรยายประวัติเอาไว้ครบครัน
นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างที่จัดแสดงหุ่นขึ้ผึ้งและประติมากรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
ลานพระ 3 สมัย ประติมากรรมพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เชียงแสน อู่ทอง ถูกจำลองขึ้นตามแบบอย่างโบราณ
กุฎิสงฆ์ เป็นเรือนไทยที่ถูกบรรจงสร้างขึ้นตามแบบแผน ประดิษฐานหุ่นขี้ผิ้งของพระภิกษุที่เป็นที่นับถือของผู้คนในแต่ละภูมิภาค อาทิ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี หลวงปู่แหวน สุจินโณ พระครูบาศรีวิชัย หลวงปู่มั่น หลวงปู่เหรียญ หลวงปู่ทวดและหลวงปู่ทิม วัดช้างให้
บ้านไทย 4 ภาค สะท้อนถึงเรื่องราววัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละภาค มีพื้นฐานมาจากความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม
ถ้ำชาดก เป็นถ้ำจำลองจัดแสดงแสงสีเสียงเกี่ยวกับชาดกเรื่อง " พระเวสสันดร " ตอนชูชกขอสองกุมาร กัณหา-ชาลี เป็นเรื่องของการให้ทานอย่าางเงื่อนไขซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ลานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จำลองขึ้นจากประติมากรรมศิลปะราชวงศ์ซ้องประเทศจีน ลักษณะท่านั่งเรียกว่า ปางมหาราชสีลา สูง 3.5 เมตร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทรงเป็นอริยบุคคลที่ได้บรรลุอรหันต์ ผู้มีปณิธานแน่วแน่ว่าจะอยู่คอยช่วยเหลือสรรพสัตว์ในโลกจนถึงคนสุดท้าย
เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.30 - 17.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย คนละ 50 บาท ชาวต่างชาติ คนละ 200 บาท โทร. 03238 1401-3


จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว

อำเภอเมือง จ.ราชบุรี
จิปาถะภัณฑ์สถาน ตั้งอยู่หมู่ 6 ตำบลคูบัว บริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรี เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนบ้านคูบัว ด้วยความริเริ่มของชุมชนหลายองค์กรในพื้นที่ ภายในอาคารแบ่งออกเป็น 2 ชั้น จัดแบ่งออกเป็นห้องๆ ชั้นล่างจัดแสดงศิลปวัตถุโบราณสมัยทวารวดี หุ่นขี้ผึ้งจำลองการริเริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์ ห้องแสดงวิถีชีวิตของชุมชุนไท-ยวนที่ได้เคลื่อนย้ายจากเมืองเชียงแสนเมื่อปี พ.ศ. 2347 มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองราชบุรี อาทิ เครื่องมืออุปกรณ์การประกอบอาชีพทำนา การเกษตร ชั้นบนจัดแสดงภูมิปัญญาการทอผ้าจกไท-ยวนเชียงแสน ห้องแสดงผ้าจกไท - ยวน เชียงแสนดั้งเดิมที่มีอายุกว่า 200 ปี จนถึงปัจจุบันและผ้าจกของลูกหลานไท-ยวน และห้องแสดงการแต่งกายของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในจังหวัดราชบุรี อาทิ ยวน โซ่ง ลาวเวียง มอญ กระเหรี่ยง จีน ไทยพื้นถิ่น เป็นต้น เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. ( ควรติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม ) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 1763 1989 ( ดร.อุดม สมพร )

ศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจก

ราชบุรี อำเภอเมือง จ.ราชบุรี
ศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจก อยู่ในบริเวณวัดแคทราย ถนนเพชรเกษม(ทางหลวงหมายเลข 3338 กม.4 ) ตำบลคูบัว เป็นศูนย์สาธิดการทอผ้า และจำหน่ายผ้าจกไทยญวน เก็บรักษาตัวอย่างผ้าจกที่มีลวดลายดั้งเดิม เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00–18.00 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 3230 0031




อุทยานบ้านปลาและสวนผีเสื้อมนชิดา

อำเภอบ้านโป่ง จ.ราชบุรี
อุทยานบ้านปลาและสวนผีเสื้อมนชิดา ตั้งอยู่เลขที่ 90 หมู่ 1 ตำบลหนองอ้อ ทางไปโครงการส่งน้ำนครชุม อยู่ติดหมู่บ้านกรุณาการ์เด้นวิลล์ จัดแสดงพันธุ์ปลาสวยงามแปลกๆ มากมาย ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ อาทิ จากทวีปอเมริกา-ทวีปอัฟริกา มีการจัดแบ่งบริเวณในพื้นที่เป็นส่วนต่างๆ ทำให้สามารถเดินเที่ยวชมได้สะดวก เช่น อาคารแสดงพันธุ์ปลาสวยงาม อาคารปลาหางนกยูง อาคารปลาเทวดา อาคารปลาทอง อาคารแสดงพันธุ์ปลาหมอแคระ เป็นต้น และมีการจำลองน้ำตก บ่อปลาและตู้ปลาของพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีสวนผีเสื้อมนชิดา ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสกับ วงจรชีวิตของผีเสื้อในธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เช่น การกินน้ำหวาน การวางไข่ หรือ แม้กระทั่งการออกจากดักแด้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-18.30 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3221 2042
การเดินทาง
รถยนต์ ใช้เส้นทางสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี หรือ ถนนเพชรเกษม ผ่านจังหวัดนครปฐม ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 จากนั้นแยกไปทางอำเภอบ้านโป่ง ก่อนถึงอำเภอบ้านโป่ง ประมาณกิโลเมตรที่ 74–75 จะเห็นแยกเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 1 กิโลเมตร เข้าอุทยานบ้านปลามณชิดา ( อยู่ติดกับตลาดสหกรณ์ปลาสวยงามบ้านโป่ง )
รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ นั่งรถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งสายใต้ สายกรุงเทพฯ-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี มาลงที่อำเภอบ้านโป่ง แล้วต่อรถโดยสารมาที่อุทยานบ้านปลา


บ่อพุน้ำร้อนโป่งกระทิง

อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี
เดินทางไปตามถนนสายโป่งกระทิง-พุน้ำร้อน ประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นป้ายเลี้ยวเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร เป็นบ่อพุน้ำร้อนขนาดเล็ก กว้างประมาณ 5 เมตร เมื่อยืนล้อมรอบบ่อและช่วยกันปรบมือหรือเคาะทำเสียงดัง น้ำในบ่อจะผุดเป็นฟองขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ใกล้กันมีบ่อน้ำเล็ก ๆ สำหรับอาบน้ำร้อนได้




ถ้ำฤาษีเขางู

อำเภอจอมบึง จ.ราชบุรี
ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา ในบริเวณสวนสาธารณะเขางู ตำบลเกาะพลับพลา ลักษณะเป็นถ้ำหรือศาสนสถาน ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ภายในถ้ำพบพระพุทธรูปจำหลักติดผนังถ้ำ เป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท ปางแสดงธรรมเทศนา ตามแบบพุทธศิลป์สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11–13) รู้จักกันทั่วไปว่า พระพุทธฉายถ้ำฤาษีเขางู ลักษณะพระพักตร์แบน พระขนงเป็นเส้นนูนโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน พระนาสิกแบน พระโอษฐ์หนา ขมวดพระเกศาใหญ่ มีรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูม ระหว่างข้อพระบาทมีจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต อ่านว่า ปุญกรรมชระศรีสมาธิคุปตะ แปลว่า พระศรีสมาธิคุปตะเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการทำบุญ นับเป็นร่องรอยศิลปะสมัยทวารวดี ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปหินทราย ศิลปะสมัยอยุธยาอีกหลายองค์ บริเวณถ้ำฤาษีเขางู มีสถานที่หลายแห่งที่น่าสนใจแวะเข้าไปชม อาทิ


รอยพระพุทธบาท ทำด้วยศิลาแลงประดิษฐานอยู่ในวิหาร ตั้งอยู่บนยอดเขางูสูงประมาณ 128 เมตร ลักษณะเป็นซากอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูน


ถ้ำฝาโถ ตั้งอยู่ใกล้สวนสาธารณะเขางู ห่างจากถ้ำฤาษีเขางูไปทางตะวันตกราว 250 เมตร มีภาพสลักบนผนังทิศใต้ ได้แก่ ภาพพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ เหนือขึ้นไปเป็นภาพเทพชุมนุม และภาพปูนปั้นรูปต้นไม้ ด้านทิศเหนือเป็นภาพสลักพระสาวกสององค์ องค์ประกอบคล้ายที่ถ้ำจาม คือ เป็นภาพพระพุทธประวัติตอนปรินิพพาน มีงานนมัสการเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 บริเวณเทือกเขางูนี้ยังมีถ้ำระฆัง และเขาพระบาท ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา และเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์เทือกเขางู
การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 3087 (สายราชบุรี-จอมบึง-สวนผึ้ง) ห่างจากตัวเมืองราชบุรีไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีทางแยกเข้าไปยังถ้ำ


เขาแก่นจันทน์
อำเภอเมือง จ.ราชบุรี
เขาแก่นจันทน์ เดิมชื่อ เขาจันทน์แดง มีความสูงประมาณ 141 เมตร เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัด มีถนนตัดขึ้นไปถึงยอดเขา บนยอดมีวิหารประดิษฐานพระพุทธนิโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระสี่มุมเมือง” เป็นพระ 1 ใน 4 องค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น แล้วพระราชทานไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองต่าง ๆ สี่เมืองได้แก่ ราชบุรี ลำปาง สระบุรี และพัทลุง เปิดตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น. ด้านบนสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ตัวเมืองราชบุรีได้


โป่งยุบ

อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี
โป่งยุบ ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 6 บ้านท่าเคย ตำบลท่าเคย อยู่ในพื้นที่ของชาวบ้าน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีลักษณะแปลกตา ในเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ เกิดจากการยุบตัวของแผ่นดินทำให้เกิดลักษณะโตรกผา คล้ายกับแพะเมืองผีจังหวัดแพร่ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. อัตราค่าเข้าชมคันละ 30-50 บาท หากมาเป็นหมู่คณะต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนเข้าชม สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 1256 2550
การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 3087 (จอมบึง-สวนผึ้ง) บริเวณกิโลเมตรที่ 26-27 ก่อนถึงตัวอำเภอสวนผึ้ง 5 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปอีกประมาณ 3.6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปอีก 500 เมตร

ธารน้ำร้อนบ่อคลึง

อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี
เดินทางจากตัวอำเภอสวนผึ้งไปประมาณ 5 กิโลเมตร จะพบแยกเข้าสู่ธารน้ำร้อนบ่อคลึงตรงไปอีก 10 กิโลเมตร บ่อคลึงเป็นธารน้ำร้อนธรรมชาติ ที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาตะนาวศรี จะมีน้ำไหลอยู่ตลอดปี เป็นน้ำร้อนบริสุทธิ์ อุณหภูมิของน้ำประมาณ 120-136 องศาฟาเรนไฮต์ ในช่วงฤดูหนาวยามเช้าไอน้ำร้อน จะลอยกรุ่นเป็นหมอกสวยงาม มีบ่อน้ำร้อนและสระน้ำสำหรับอาบน้ำร้อนธรรมชาติ เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00–17.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์เปิดเวลา 08.00–18.00 น. ค่าผ่านประตู 5 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3271 1086 www.boeklueng.com

สวนศิลป์ บ้านดิน

ราชบุรี อำเภอโพธาราม จ.ราชบุรี

สวนศิลป์ บ้านดิน ตั้งอยู่เลขที่ 90 หมู่ 5 ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม เป็นศิลปะสถานท่ามกลางธรรมชาติ ในเนื้อที่ 3 ไร่ ตั้งขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมสำหรับเยาวชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจอบรมฝึกศิลปะการแสดง เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการศึกษาและองค์กร โดยมีสิ่งสำคัญคือ บ้านดิน ซึ่งสร้างด้วยดินผสมแกลบตลอดทั้งหลัง และเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำละครโทรทัศน์เรื่อง "ตม" เมื่อปี 2546 สำหรับหลักสูตรที่เปิดสอนมีทั้ง ศิลปะการแสดง นาฎศิลป์ไทย ดนตรีไทย นาฎศิลป์ร่วมสมัยและนาฎศิลป์ตะวันตก สอบถามรายละเอียดที่ภัทราวดีเธียเตอร์ โทร. 0 2412 7287-8 หรือที่บ้านดิน โทร. 0 3239 7668 เว็บไซต์ www.patravaditheatre.com

 

สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง

อำเภอจอมบึง จ.ราชบุรี
ตั้งอยู่เชิงเขาประทับช้าง ตรงข้ามปากทางเข้าถ้ำเขาบิน เป็นสวนป่าร่มรื่น รวบรวมพรรณไม้ในวรรณคดีหายากหลายชนิด โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน จะเป็นช่วงที่ "ดอกอรพิม" บานสะพรั่งสีขาวบริสุทธิ์ เหมาะเป็นที่พักผ่อนและศึกษาธรรมชาติพันธุ์ไม้ และนอกจากนั้นยังได้จัดทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ชื่อเส้น “พฤกษานานาพรรณ” มีทั้งหมด 13 สถานี ระยะทาง 900 เมตร ใช้เวลาในการเดิน 45 นาที ตลอดเส้นทางผ่านแปลงพรรณไม้ที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีไทย เช่น พืชสมุนไพร พรรณไม้ประจำจังหวัด และสัตว์ป่าที่พบ เช่น เสือ กวาง เก้ง เป็นต้น เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 3221 1025 ต่อ 807 หัวหน้างาน โทร. 08 1918 6345, 08 9826 8806 ฝ่ายประสานงาน โทร.08 9510 7066 ประชาสัมพันธ์ โทร. 08 6163 1871
ทุกปีประมาณเดือนมกราคมและมิถุนายน ทางสวนพฤกศาสตร์ฯได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จัดกิจกรรมวิ่งและขี่จักรยานเสือภูเขา ชมสวนมวลไม้ สอบถามรายละเอียดโทร. 0 3226 1790 ต่อ 6009
การเดินทาง รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ นั่งรถสายกรุงเทพฯ-จอมบึงมาลงที่หน้าถ้ำเขาบิน สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง เขาประทับช้างอยู่ฝั่งตรงข้ามปากทางเข้าถ้ำเขาบิน


 

น้ำตกเก้าชั้น หรือ เก้าโจน (เก้ากระโจน)

อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี
ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยผาก หมู่ 7 ตำบลผาผึ้ง เลยจากธารน้ำร้อนบ่อคลึงไปประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีความสูง 9 ชั้น ตกจากหน้าผาสูงกลางหุบเขา มีน้ำตลอดปี ปริมาณน้ำจะมากในชั้นบนๆ หินบริเวณน้ำตกเป็นหินแกรนิต แต่เดิมน้ำตกนี้รู้จักกันเฉพาะในกลุ่มชาวกะเหรี่ยง ต่อมาบริษัทต่างชาติเข้ามารับสัมปทานเหมืองแร่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2484 ต่อมาเมื่อหมดสัมปทาน ทางอำเภอและกลุ่มองค์กรท้องถิ่นจึงได้เข้ามาดูแลพื้นที่
การเดินไปชมน้ำตก จากลานจอดรถเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร จะถึงบริเวณน้ำตกชั้นล่าง ซึ่งสามารถเดินเท้าขึ้นไปถึงชั้นสุดท้ายได้ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ค่าเข้าชม รถยนต์ รถตู้ รถปิกอั๊พ คันละ 30 บาท รถบัส 100 บาท


 

พุน้ำร้อนไทยประจัน

อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี
พุน้ำร้อนไทยประจัน เป็นบ่อพุน้ำร้อนที่ตั้งอยู่ในเขตกิ่งอำเภอบ้านคา มีอุณหภูมิในบ่อ 65 องศาเซลเซียส หากผู้มาเยือนสร้างคลื่นเสียงด้วยการปรบมือ น้ำร้อนในบ่อจะมีฟองอากาศพวยพุ่งออกมา เปิดให้นักท่องเที่ยวเลือกอาบได้ ระหว่างน้ำเย็นที่ไหลจากเทือกเขาตะนาวศรีและน้ำร้อนที่ไหลจากบ่อ

น้ำตกห้วยสวนพลู

อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี
น้ำตกห้วยสวนพลู ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีหมู่ 4 ตำบลบ้านบึง เป็นน้ำตกที่มีสภาพธรรมชาติแวดล้อมของป่าที่สมบูรณ์ และหลากหลายทางชีวภาพมากแห่งหนึ่ง มีการพบนกเงือกถึง 5 ชนิด และนกป่าหายาก เช่น นกแซวสวรรค์สีขาวหางยาว รวมทั้งกล้วยไม้ป่ามากมาย ในช่วงฤดูร้อนเป็นแหล่งรวมของบรรดาผึ้งนับหมื่นตัว ควรพักแรมอย่างน้อย 1 คืน เพื่อเที่ยวชมธรรมชาติได้ทั่วถึง

พิพิธภัณฑ์ภโวทัย หรือ สวนภูมิปัญญาชาวบ้าน

อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี
จากหน้าสถานีตำรวจสวนผึ้งแยกซ้ายไปประมาณ 2 กิโลเมตร ผ่านวัดสวนผึ้งแล้วแยกขวาข้ามสะพานไป ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ ลักษณะเป็นเรือนไทยประยุกต์ รวบรวมวัตถุโบราณในอดีต รถม้า รวมทั้งพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับของไทยชนิดต่างๆ เปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 น.- 17.00 น. ค่าเข้าชมสำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท นอกจากนี้ยังมีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3222 1189, 0 3239 5192-4, 06171 8400

อุทยานธรรมชาติวิทยา ตามพระราชดำริ

อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี
อุทยานธรรมชาติวิทยา ตามพระราชดำริ ตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี มีพื้นที่ 132,905 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตตำบลสวนผึ้งและตำบลตะนาวศรี สร้างขึ้นตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่า และเป็นแหล่งความรู้สำหรับเยาวชน และประชาชนทั่วไป ภายในอุทยานฯ มีสิ่งที่น่าสนใจ อาทิ

ศาลาข้อมูลธรรมชาติวิทยา รวบรวมข้อมูลทั่วไปของอุทยานธรรมชาติวิทยา สังคมศาสตร์ กายภาพและทางชีวภาพโดย จัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการ สิ่งตีพิมพ์ วีดีทัศน์ และมีห้องสมุด ที่สามารถค้นหาข้อมูลทางสิ่งแวดล้อมได้ และยังมีร้านจำหน่ายของที่ระลึก หนังสือ โปสการ์ดเกี่ยวกับอุทยานธรรมชาติวิทยา และหนังสือพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนผลิตภัณฑ์ในโครงการส่งเสริมอาชีพตามพระราชดำริด้วย

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ 2 เส้นทาง
เส้นทางแรก เริ่มจากสำนักงานผ่านธารน้ำร้อนบ่อคลึง แล้ววนกลับมายังสำนักงาน ใช้เวลาในการเดิน 1 ชั่วโมง
เส้นทางที่สอง เริ่มจากสำนักงานเดินเลาะน้ำตก ผ่านธารน้ำร้อนบ่อคลึงแล้ววนกลับมายังสำนักงาน ใช้เวลาในการเดิน 3 ชั่วโมง

ค่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้เด็กนักเรียน เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสม ในการอนุรักษ์ทรัพยากรเหล่านี้ด้วย

อุทยานฯมีบ้านพัก 2 หลังและเต็นท์สำหรับอำนวยความสะดวกแก่นักวิชาการ และเยาชนที่เข้าค่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา รายละเอียดโทร. 0 3232 9016 , 0 6172 4232
สำนักงานที่กรุงเทพฯ ติดต่อได้ที่ สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สวนจิตรลดา โทร. 0 2281 3921, 0 2282 6511

สถานที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพักไว้ให้สำหรับนักวิชาการและเยาวชนที่เข้าค่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา จำนวน 3 หลัง พักได้ 2-30 คน ราคา 50 บาท/คน/คืน หรือ 1 หลัง ราคาคืนละ 600 บาท มีเต็นท์ให้เช่า พักได้ 2 คน จำนวน 20 หลัง ราคา 50 บาท/คน/คืน


 

เส้นทางขับรถเที่ยว

อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี
เส้นทางขับรถเที่ยว หากคุณเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว เส้นทางที่ตัดจากถนนเพชรเกษมผ่านกิ่งอำเภอบ้านคาสู่อำเภอสวนผึ้ง นับเป็นเส้นทางที่สวยงาม เส้นทางสายแยกอำเภอปากท่อ (ทางหลวงหมายเลข 3206) สู่บ้านโป่งกระทิง (ทางหลวงหมายเลข 3313) ก่อนผ่านกิ่งอำเภอบ้านคาสู่สวนผึ้ง หรือใช้เส้นทางห้วยชินสีห์ ตรงข้ามทางเข้าตำบลคูบัว (ทางหลวงหมายเลข 3337) ผ่านบ้านทุ่งหลวงไปบรรจบกับสายแรกที่บ้านโป่งกระทิง ถึงกิ่งอำเภอบ้านคา ก่อนเข้าสู่อำเภอสวนผึ้งเช่นกัน เป็นเส้นทางที่ตัดผ่านป่า และทิวเขาสลับซับซ้อนสวยงามมากเส้นหนึ่งในราชบุรี

 

ถ้ำจอมพล

อำเภอจอมบึง จ.ราชบุรี
ตั้งอยู่ที่ตำบลจอมบึง อยู่ห่างจากถ้ำเขาบินไป 11 กิโลเมตร ในบริเวณสวนรุกขชาติ ทางเข้าถ้ำจอมบึงอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มีฝูงลิงอาศัยอยู่จำนวนมาก เดิมมีชื่อว่า “ถ้ำมุจลินทร์” เมื่อปี พ.ศ.2483 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสถ้ำนี้ทรงพอพระทัยความงามของหินงอกหินย้อย โดยเฉพาะหินย้อยผาวิจิตร ที่เหมือนริ้วไหมอินทรธนูบนบ่าของจอมพล จึงทรงพระราชทานนามถ้ำใหม่ว่า “ถ้ำจอมพล” นอกจากหินงอกหินย้อยที่สวยงามแล้ว ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งมีงานฉลองเป็นประจำทุกปีในหน้าแล้ง

 

ถ้ำเขาบิน

อำเภอจอมบึง จ.ราชบุรี
ถ้ำเขาบิน ตั้งอยู่ที่ตำบลหินกอง ในเทือกเขาบิน มีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่เศษ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีความลึกจากปากถ้ำถึงบริเวณลึกสุดประมาณ 300 เมตร แบ่งออกเป็นคูหาตามลักษณะหินงอกหินย้อยวิจิตรตระการตา ภายในถ้ำแบ่งออกเป็น 8 คูหา คือ ศิวสถาน โถงอาคันตุกะ ธารอโนดาต สกุณชาติคูหา เทวสภาสโมสร กินนรทัศนา พฤกษาหิมพานต์ และอุทยานทวยเทพ ภายในถ้ำมีการจัดระเบียบทางเดินอย่างดีและจัดแสงไฟตามกลุ่มหินย้อยต่าง ๆ เพื่อเสริมจินตนาการให้แก่ผู้มาเที่ยวชม จัดเป็นถ้ำแรกที่มีการจัดแสงสีภายในถ้ำเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ชื่อ ถ้ำเขาบิน เชื่อว่ามาจากหินงอกหินย้อยรูปพญาอินทรีย์กางปีกดูสง่างาม และภายในถ้ำยังมีบ่อน้ำแร่เล็ก ๆ ที่ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น., เสาร์ - อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3232 9226

การเดินทาง อยู่ห่างจากจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 3087 (สายราชบุรี-จอมบึง-สวนผึ้ง) ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร บริเวณกิโลเมตรที่ 20 มีทางแยกซ้ายมือเข้าไปประมาณ 1.6 กิโลเมตร


 

สวนสัตว์เปิด สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง

อำเภอ จ.ราชบุรี
ตั้งอยู่ที่ตำบลปากช่อง เป็นสถานีเดียวในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ที่มีการเพาะเลี้ยงและแพร่พันธุ์เสือ นอกจากนี้ยังมีสัตว์อื่น ๆ เช่น เลียงผา ไก่ต๊อก กวาง ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่ได้รับการบริจาคหรือถูกจับยึดมาได้ นำมาอภิบาลและขยายพันธุ์ ให้อาศัยอยู่ในบริเวณสวนสัตว์เปิดเขาประทับช้าง มีพื้นที่ราว 26 ไร่ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ยินดีรับการบริจาค เพื่อใช้เป็นค่าอาหารสัตว์และค่าบำรุงสวนสัตว์

 

ถ้ำสาริกา

อำเภอ จ.ราชบุรี
ถ้ำสาริกา อยู่ในเขตตำบลธรรมเสน จากเขาช่องพรานจะมีทางแยกซ้ายมือไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะเห็นภูเขาลูกเล็กๆ อันเป็นที่ตั้งของถ้ำสาริกาซึ่งมีความสวยงาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อเมื่อคราวเสด็จประพาส และทรงสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ไว้บริเวณปากถ้ำ

 

ค้างคาวเขาช่องพราน

อำเภอโพธาราม จ.ราชบุรี
ค้างคาวเขาช่องพราน อยู่ที่ตำบลเตาปูน ห่างจากตัวอำเภอโพธารามไปทางทิศตะวันตกประมาณ 9 กิโลเมตร ถ้ามาจากตัวเมืองราชบุรี ใช้เส้นทางเขางู-เบิกไพร ไปประมาณ 17 กิโลเมตร บริเวณเขาช่องพรานมีถ้ำที่สวยงาม คือ “ถ้ำพระนอน” มีพระพุทธรูปภายในถ้ำมากกว่าร้อยองค์ และมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ความยาว 9 เมตร แต่สิ่งที่สร้างชื่อให้เขาช่องพราน คือ ฝูงค้างคาวนับล้านตัว ที่กรูกันบินออกจากถ้ำพวยพุ่งเป็นสายสีดำ นานนับชั่วโมงทุกเย็นในช่วงใกล้พลบค่ำ เวลาประมาณ 17.30 น. ในช่วงฤดูร้อนฝูงค้างคาวจะบินไปทางทิศตะวันออก ในช่วงฤดูหนาวฝูงค้างคาวจะบินไปทางทิศตะวันตก

 

ล่องเรือตามรอยเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง

อำเภอดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

ล่องเรือตามรอยเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในอดีตเมื่อครั้งขุดคลองสายนี้เสร็จใหม่ๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ต้องการทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร จึงทรงเรือมาดกะสวยมาตามลำพัง เส้นทางที่พระองค์เสด็จประพาสนี้ นับเป็นเส้นทางสายประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นห่วงเป็นใยความเป็นอยู่ ของพสกนิกรของพระองค์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูง ยากที่ผู้ใดจะลืมเลือน การเดินทางตามเส้นทางเสด็จของพระองค์นี้ จึงมีเรื่องราวน่าศึกษามากมายสายหนึ่งของราชบุรี เริ่มจากท่าน้ำคลองดำเนินสะดวก ผ่านไร่องุ่น แวะชิมน้ำมะพร้าวอ่อน ก่อนผ่านสวนเกษตรผสมผสาน ชมบ้านเรือนไทยเก่าแก่ริมน้ำ ชิมน้ำตาลมะพร้าวสดแก้กระหาย แล้วอิ่มอร่อยกับก๋วยเตี๋ยวเรือ เจ้าของรางวัลชนะเลิศดำเนินสะดวก ผ่านหน้าวัดโชติทายการาม และบ้านเจ๊กฮวดที่ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาในแบบสามัญชนและเสวยพระกระยาหารกลางวันที่นี่ ก่อนจะผ่านตลาดลัดพี สู่ใจกลางตลาดน้ำดำเนินสะดวกอีกครั้งหนึ่ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3224 1023 และ 0 3234 6161

รอยัลไทย แฮนด์ดิคราฟ เซ็นเตอร์

อำเภอดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

รอยัลไทย แฮนด์ดิคราฟ เซ็นเตอร์ ตั้งอยู่เลขที่ 240 หมู่ 6 อยู่เลยจากแยกบางแพไปประมาณ 11 กิโลเมตร (ทางหลวงหมายเลข 325) บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 15 เป็นศูนย์แกะสลักไม้สักเป็นรูปแบบต่าง ๆ เพื่อประดับตกแต่งและเป็นเฟอร์นิเจอร์ อาทิ ภาพไม้แกะสลัก ชุดโต๊ะรับแขก ตู้ใส่ไวน์ ม่านกั้นห้อง มีสาธิตการทำกระดาษสา การแกะสลักไม้เป็นลวดลายต่างๆ และมีร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกไว้สำหรับนักท่องเที่ยว อาทิ กระเป๋า โคมไฟ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ เป็นต้น เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3225 3010-30 หรือที่เว็บไซต์ www.thairtc.com , E-mail: royal@infonews.co.th

เขาน้อยเทียมจันทร์

อำเภอเมือง จ.ราชบุรี

เขาน้อยเทียมจันทร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลอ่างทอง อยู่เลยเขาหลวงไปตามถนนเพชรเกษม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 10 กิโลเมตร พระอุโบสถหลังเก่าสร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป 2 องค์ ทำด้วยศิลาแลง ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อเขาน้อย ซึ่งเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ด้านบนมีรอยพระพุทธบาทจำลอง และสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ตัวเมืองราชบุรีได้

เมืองโบราณบ้านคูบัว

อำเภอเมือง จ.ราชบุรี

เมืองโบราณบ้านคูบัว ตั้งอยู่ที่ตำบลคูบัว เป็นโบราณสถานที่ขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่าง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าดินแดนราชบุรีแห่งนี้ เคยเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองในยุคทวารวดี สถาปัตยกรรมในเมืองโบราณคูบัว ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากช่างสมัยราชวงศ์คุปตะ ประเทศอินเดีย และมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยมามากกว่า 1,000 ปี ส่วนโบราณวัตถุสำคัญต่าง ๆ ที่ค้นพบโดยเฉพาะเศียรพระพุทธรูปสมัยโบราณ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี เมืองโบราณบ้านคูบัวพบหลักฐานกระจัดกระจายทั่วบริเวณหลายแหล่ง อาทิ โบราณสถานวัดโขลง ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าวัดโขลงสุวรรณคีรี ห่างจากตัวเมืองราชบุรีไปทางทิศใต้ตามถนนท้าวอู่ทองประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศเหนือและด้านใต้ด้านละ 3 มุข ทางด้านตะวันออกมีมุขยื่นออกมาเป็นบันไดทางขึ้น ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน มีมุขยื่นออกมาจากฐานด้านข้างด้านละ 3 มุม ฐานชั้นที่สองเป็นฐานบัวโค้ง ถัดขึ้นไปเป็นอิฐก่อเป็นช่องซุ้มรูปสี่เหลี่ยมประดับปูนปั้นรูปบัวฟันยักษ์ ชั้นถัดไปเป็นฐานหน้ากระดานรองรับซุ้มสี่เหลี่ยมผืนผ้า เหนือขึ้นไปเป็นเสาอิงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ระหว่างเสาเจาะเป็นซุ้มจระนำยอดแหลมสลับกับเสาอิงไปตลอดผนัง ส่วนบนของฐานโบราณสถานเป็นลานประทักษิณ ในการขุดแต่งได้พบปูนปั้นรูปเศียรเทวดา คนแคระ เชิงเทียนสำริดและลวดลายปูนปั้นอื่นๆ

โบราณสถานหมายเลข 8 ตั้งอยู่ด้านหลังโรงเรียนวัดคูบัว มีลักษณะเป็นฐานเจดีย์ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาวด้านละ 20.80 เมตร ความสูง 5.40 เมตร ฐานชั้นล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ก่ออิฐสอปูน ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวโค้งรองรับหน้ากระดานมีช่องซุ้มสี่เหลี่ยมโดยรอบ ด้านบนเป็นลานประทักษิณ ชั้นที่สองเป็นฐานขององค์เจดีย์ มีฐานบัวโค้งรองรับหน้ากระดานซึ่งมีซุ้มสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กรององค์เจดีย์ มีร่องรอยของปูนฉาบ ที่ฐานบัวโค้งแต่ไม่ปรากฏร่องรอยการประดับประติมากรรมปูนปั้น



ที่มา http://www.tat.or.th/travelplace.asp?prov_id=70

ประวัติศาสตร์ จังหวัดราชบุรี


ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว เที่ยววัดเมืองราชบุรี